จัดการการเปลี่ยนแปลงและปัญหาการจัดการ 3 สิ่งในองค์กรที่พบบ่อยที่สุด

06 ต.ค. 2564

การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ มันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงแล้ว องค์กรต่างๆ ก็อาจเกิดคำถามว่า เราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ประสบการณ์ได้แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนคุณต้องจัดการกับสถานการณ์ที่คุณอาจไม่เคยคิดมาก่อนซึ่งอาจทำให้เกิดความตึงเครียดได้ โชคดีที่คุณสามารถบรรเทาความกดดันของการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันได้โดยมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์เชิงบวกที่การเปลี่ยนแปลงสามารถนำมาได้ เช่น ความคล่องตัว ประสิทธิผล และการแข่งขันที่มากขึ้น

ความจริงก็คือไม่ว่าในตอนนี้องค์กรของคุณจะประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่ คุณก็สามารถพัฒนาให้มันดียิ่งขึ้นได้อีก ตัวอย่างเช่น คุณสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการ หรือเพิ่มประสิทธิภาพข้อเสนอบริการได้
ปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลง คู่แข่งรายใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีแต่จะเพิ่มความเร่งด่วนขึ้นเท่านั้น หากการเปลี่ยนแปลงของคุณนั้นล้มเหลวก็มีแต่จะทำให้คู่แข่งก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น การวางแผนการเปลี่ยนแปลงและทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของคุณทำให้ง่ายต่อการปรับตัวและคงความสามารถในการแข่งขันและคล่องตัว

การจัดการการเปลี่ยนแปลงคืออะไร

การจัดการการเปลี่ยนแปลงหมายถึง แนวทาง เครื่องมือ และกระบวนการที่ธุรกิจใช้เพื่อเตรียมการ สนับสนุน และกำหนดทิศทางผู้คนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าในการเปลี่ยนแปลงองค์กร การจัดการการเปลี่ยนแปลงนี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นราบรื่นและน่าพึงพอใจ

กระบวนการการจัดการการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะเป็นอย่างไร

กระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่จำเป็นต้องซับซ้อนแต่ควรมีความครอบคลุม ยิ่งมีรายละเอียดมากเท่าใด โอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น กระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดขึ้นอยู่กับหลักการเดียวกันดังนี้

  • ระบุการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นและใช้การกำหนดเป้าหมายแบบ S.M.A.R.T (Specific, Measurable, Attainable, Realistic, Timely) เพื่อสร้างกรณีศึกษาทางธุรกิจ
  • นำเสนอกรณีศึกษาทางธุรกิจและเป้าหมายต่อ Stakeholder
  • สร้างแผนการสำหรับโครงการ
  • ประสานงานทรัพยากรและเครื่องมือสำหรับการดำเนินการและประเมินผล
  • เปิดช่องทางการสื่อสารทั่วทั้งองค์กร
  • จัดการการเปลี่ยนแปลง ข้อกังวล และแม้กระทั่งการต่อต้านที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการ
  • เฉลิมฉลองการดำเนินการตามการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน

#1. การต่อต้านจากพนักงาน

การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ภายในองค์กร ผู้บริหารอาจจะไม่ต้องการใช้งบประมาณ แผนกต่างๆ อาจจะไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่องค์กรต้องการโดยรวมตราบเท่าที่พวกเขายังทำงานเช่นเดิมต่อไปได้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีอำนาจตัดสินใจอาจไม่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะก่อให้เกิดผลดีอย่างไรต่อองค์กรในทันที

การต่อต้านต่อมาอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงในกิจวัตร พนักงานอาจจะเกิดความกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตำแหน่งและงานของพวกเขา แม้แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงแล้วพนักงานก็อาจจะยังต่อต้านได้เช่นกันหากพวกเขารู้สึกว่าเวิร์กโฟลว์ใหม่นั้นทำให้งานของพวกเขายากขึ้น ซึ่งคุณต้องใช้แนวทางที่หลากหลายเพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้

คุณต้องโปร่งใส พนักงานต้องการทราบสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ระดับสูงเท่านั้น การยอมรับปัญหาและอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะแก้ไขปัญหาของพวกเขาได้อย่างไรนั้น สามารถสร้างการยอมรับและการให้ความร่วมมือได้ รวมถึงควรจัดให้มีการอบรมที่เพียงพอ การฝึกอบรมเทคโนโลยีใหม่ เวิร์กโฟลว์ใหม่ และกระบวนใหม่อย่างมีคุณภาพนั้นสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่น

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับสูงก็มีส่วนสำคัญ เนื่องจากพนักงานก็ต้องการเห็นความพยายามจากเหล่าผู้บริหารเช่นกัน และเมื่อเหล่าผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมแล้วก็จะทำให้แผนการเปลี่ยนแปลงนั้นดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาการสื่อสารระหว่างผู้บริหารและพนักงานด้วย

#2. ปัญหาด้านการสื่อสาร

การสื่อสารเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ หลายๆ องค์กรมักมีปัญหากับการสื่อสารภายใน  ปัญหาการสื่อสารที่พบได้บ่อย เช่น

  • การสื่อสารที่ถูกจำกัดหรือสื่อสารน้อยเกินไป
  • มีช่องทางการสื่อสารไม่เพียงพอ
  • ความล้มเหลวในการแจ้งให้ Stakeholder ทั้งหมดทราบและมีส่วนร่วมในการติดตามผล

 

แผนการจัดการการเปลี่ยนแปลงนั้นควรมีการสื่อสารที่ชัดเจนในทุกๆ ช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพระหว่างพนักงานและการจัดการ นอกจากนี้การสื่อสารควรประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญ แจ้งพนักงานว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง

คุณสามารถป้องกันปัญหาจากการสื่อสารได้ด้วยการวางแผนล่วงหน้า สร้างกลยุทธ์การสื่อสารให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนจัดการการเปลี่ยนแปลงของคุณ ระบุหน้าที่ของแต่ละคน วางตารางแผนงานล่วงหน้าซึ่งรวมถึงช่องทางการสื่อสารที่คุณจะใช้ด้วย เช่น

  • อีเมล
  • Intranet
  • จดหมาย

และโปรดอย่าลืมการสื่อสารระหว่างบุคคลระหว่างการประชุมหรือเมื่อคุณพบเจอกัน รวมถึงเปิดช่องทางให้พนักงานได้แจ้งข้อกังวลและจัดการกับสิ่งที่พวกเขากังวลเหล่านั้นอยู่เสมอ

#3. การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้

หากปราศจากแผนงานที่มีทิศทางที่ดี การหยุดชะงักสามารถทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างมากแทนที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความคับข้องใจ ปัญหานี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่จะทำให้ระบบและเวิร์กโฟลว์ทำงานได้โดยอัตโนมัติเพื่อให้มีขั้นตอนน้อยลงและทำให้ภาระงานง่ายขึ้นก็ตาม

หลายๆ ครั้ง สถานการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้และดำเนินการอย่างรวดเร็วจนเกินไป รวมถึงการลดเวลาในการฝึกอบรมและลดเวลาในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่าน การเปิดตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นดีที่สุด ด้วยการใช้เวลาค่อยๆ แนะนำเทคโนโลยีใหม่นี้ภายในอาทิตย์หรือภายในเดือนคุณก็จะสามารถลดปัญหาได้ และเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการฝึกอบรม ควรเปิดให้มีการฝึกอบรมหลายครั้งก็จะทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจต่ออุปกรณ์หรือกระบวนการใหม่ๆ ได้

ทำให้การจัดการการเปลี่ยนแปลงนั้นสร้างประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรของคุณ

การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเติบโตและเกิดการแข่งขันต่อไปได้ เรารับทราบถึงประเด็นนี้ เราช่วยเหลือในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ในบางครั้งก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ เช่น การอัปเกรดเครื่องพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติรูปแบบใหม่ แต่ในบางครั้งเราช่วยลูกค้าพัฒนาแผนการจัดการการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กรที่กว้างขวางยิ่งขึ้นผ่านบริการให้คำปรึกษาของเรา

 

ที่มา: https://www.ricoh-usa.com/en/insights/articles/the-3-most-common-change-management-problems